ข่าวสังคมข่าวเด่น

พระธงชัย(ชะยะวังโส)เทศน์ โปรด โยม พ่อ โยมแม่ กัณฑ์ที่ 2 เรื่องทุกขอริสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์

วันที่ 12 กรกฎาคม 2562  พระธงชัย (ชะยะวังโส) รุ่งชาญชัย (ลีโอ) เทศน์ โปรด โยม พ่อ โยมแม่กัณฑ์ที่ 2 เรื่อง ทุกขอริสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ โดย  นางกมลพรรณ สุนทรยิ้ม (ยาย) นายมนต์ชัย นางธัญญา รุ่งชาญชัย (บิดา- มารดา)เจ้าของผู้ประกอบการ (บริษัทสิงโตทองไร้ซ์ จำกัด)และ(บริษัทในเครือสิงห์โตทองกรุ๊ป) นิมนต์ถวายภัตตาหารเพล และ เทศน์ โปรด โยม ดังกล่าวทั้งนี้ใจความหน้าที่ของพระก็ต้องศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และสั่งสอนธรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะพระเก่าหรือพระใหม่แต่ที่มีประเพณีให้พระใหม่ไปเทศน์ให้ญาติโยมบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ฟัง ก็เนื่องมาจากว่า ญาติโยมผู้หลักผู้ใหญ่นั้น อยากจะรู้ว่าพระลูกพระหลานได้บวชมาแล้ว ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้างหรือเปล่า ศึกษาพระธรรมวินัยบ้างไหม หรือแค่มาบวชแล้วก็นั่ง ๆ นอน ๆ ไปวัน ๆ การให้พระใหม่ไปเทศน์ให้โยมฟัง ก็เป็นการกระตุ้นให้พระบวชใหม่ ซึ่งบางรูปบางท่านก็มีเวลาบวชน้อยอยู่แล้วกรณีเป็นหนุ่มเป็นวัยรุ่น มาบวชตามประเพณีอะไรทำนองนี้  ได้เร่งศึกษาธรรมะ อย่างน้อยก็เรียนรู้การเทศน์การแสดงธรรม เพื่อที่จะได้เป็นที่เลื่อมใสแก่พุทธศาสนิกชนญาติโยมว่า ไม่ได้บวชมาเปล่า ๆ แต่บวชมาศึกษาพระธรรมวินัยด้วยเมื่อพ่อแม่หรือญาติเห็นว่าการบวชของลูกหลานไม่เปล่าประโยชน์ ก็จะมีความเลื่อมใสในพระศาสนา นอกจากนั้น พระบวชใหม่เองก็ยังได้ชื่อว่าทำการตอบแทนพระคุณบุพการีตามหลักที่พระผู้มีพระภาคสอนไว้ว่า การตอบแทนคุณของบิดามารดา ที่ดีที่สุดก็คือการสอน การชักจูงชี้แจง ให้บิดามารดา มีศีล มีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งก็จะเกิดขึ้นจากการได้ฟังธรรมที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา จากการเทศน์ของพระนั่นเอง (ที่มา บทความ Pantip chohokunX )

แม้ ชาติ ก็เป็นทุกข์   แม้ชราก็เป็นทุกข์    แม้ มรณะ ก็เป็นทุกข์    แม้ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์    ความประจวบ กับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์    ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์    ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์   โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน? ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง เกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่า ชาติ  ( สำหรับผู้ที่มีความสงสัยในเรื่องชาติ ในปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ชาติ โดยโลกุตระแล้ว มีความหมายถึง การเกิดขึ้นของสังขารทั้งปวง ไม่ใช่เฉพาะแต่ชีวิตเพียงอย่างเดียว สังขารอื่นๆที่เกิดขึ้นก็เรียกว่า ชาติ เช่นกัน)

ก็ชราเป็นไฉน? ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้ เรียกว่า ชรา  ( สำหรับผู้ที่มีความสงสัยในเรื่องชราในปฏิจจสมุปบาท)

ก็มรณะเป็นไฉน? ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่า มรณะ  ( สำหรับผู้ที่มีความสงสัยในเรื่องมรณะในปฏิจจสมุปบาท อยู่ต่อจากชรา)

ก็โสกะเป็นไฉน? ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะของบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือ ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า โสกะ

ก็ปริเทวะเป็นไฉน? ความคร่ำครวญ ความร่ำไร รำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของ บุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า ปริเทวะ

ก็ทุกข์เป็นไฉน? ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่า ทุกข์

ก็โทมนัสเป็นไฉน? ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดี ที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่า โทมนัส

ก็อุปายาสเป็นไฉน? ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความ พิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่า อุปายาส

ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์

ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความไม่ประสบ ความไม่ พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความ ผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิต อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์

ก็ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน? ความปรารถนา ย่อมบังเกิด แก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความ เกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้น สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์     ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา…     ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา…   ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา   ขอโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย   ข้อนั้น สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์

ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน?

อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณเหล่านี้(ที่ถูกครอบงำ หรือประกอบด้วยอุปาทาน แล้วเรียกว่า รูปูปาทานขันธ์  เวทนูปาทานขันธ์  สัญญูปาทานขันธ์  สังขารูปาทานขันธ์   วิญญาณูปาทานขันธ์) เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียก ทุกขอริยสัจ.

สภาวธรรมเหล่านี้ เรียกว่าทุกขอริยสัจ เป็นทุกข์ของชีวิตที่เป็นจริงของทุกรูปนาม ไม่มีผู้ใดหนีพ้น  เป็นทุกข์โดยธรรมคือธรรมชาติ จึงจริงแท้แน่นอนอยู่ตลอดกาลนาน  จึงได้ชื่อว่าทุกขอริยสัจ  ที่เมื่อเกิดขึ้นและเป็นไปย่อมยังให้เกิดทุกขเวทนาเป็นผลตามมา อันเป็นทุกข์โดยธรรมหรือธรรมชาติเช่นกัน  สิ่งต่างๆเหล่านี้คือทุกขอริยสัจและทุกขเวทนาแม้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งที่หลีกหนีไม่พ้นก็จริงอยู่ แต่ขาดเสียซึ่งความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายดังทุกข์อุปาทาน คือเหล่าความทุกข์ดังกล่าวที่ประกอบด้วยอุปาทาน ที่ยังให้เกิดความทุกข์อีกชนิดหนึ่งที่มีความเร่าร้อนเผาลนดังไฟนรก

ทุกข์อุปาทานหรืออุปาทานทุกข์นี้นี่เอง ที่สามารถดับได้ด้วยธรรมโอสถของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น (ที่มา) http://www.nkgen.com/1mainpage1024.htm#title//

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า